เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย. พร้อมตัวแทนชาวประมง 22 จังหวัด ยื่นหนังสือต่อ นายธนกร ถาวรชินโชติ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, นายนิสิทธิ์ ปนกลิ่น สว.พังงา และคณะสมาชิกวุฒิสภา
เพื่อขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาประมงจากกลุ่มเครือข่ายชาวประมง ที่ประสงค์ขายเรือคืนรัฐ ตามโครงการฯ ที่ผ่านขั้นตอนของกรมประมงจำนวน 923 ลำ และเรืออยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ตกหล่น ขอขื่นหนังสือปัญหาดังกล่าว
ภายหลังจากรัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าภาคการประมงทะเลอาจจะขาดการเหลียวแล
โดยระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยตกอยู่ในกาวะเสื่อมโทรมและกิจการประมงทะเลของไทยประสบปัญหาจากการจัดการที่ผิดพลาดจากนโยบายแก้ไขปัญหาไอยูยูที่ผ่านมา เช่น มีการออกกฎหมายโดยเร่งด่วน ไม่เป็นธรรม มีบทบัญญัติที่ไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงและบริบทของสังคมไทย ปริมาณการจับสัตว์น้ำที่ลดลง ราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ ผู้ประกอบการต้องขาดทุน ทำให้เรือประมงต้องจอด หลายรายต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว ครอบครัวแตกแยก
อีกทั้งโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ก็ยังไม่มีความ คืบหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเรือ 923 ลำ ๒๒ จว. ที่เป็นโครงการล่าสุด ทำให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนต่อชาวประมงเป็นอย่างมาก
กลุ่มชาวประมงที่ประสงค์ขายเรือคืนรัฐตามโครงการที่ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนของกรมประมงจำนวน 923 ลำ ขอยื่นหนังสือปัญหาดังกล่าว ให้เร่งรัดผลักดัน ให้รัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินโครงการรับซื้อเรือประมงคืนเป็นการเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการประมงที่มีรายชื่อในระบบของโครงการและผ่านขั้นตอนต่างๆที่รัฐกำหนดไว้แล้ว จะได้ปลดภาระค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องดูแลรักษาเรือให้คงอยู่ และจะได้นำเงินชดเชยจาก
โครงการนำเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ไปใช้หนี้เงินที่กู้ยืมมา และเป็นทุนสำหรับปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ต่อไป.
………………………………………….
กิตติ วงศรัตนาวุธ ภาพ ข่าว