Breaking News

มรส.-วัด-ชุมชน ความศรัทธา-บูชาพระพุทธศาสนา แสดงออกผ่านการเรียนรู้-ปฏิบัติจริง ในงานสืบสานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ประจำปี 2567 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

เมื่อได้ยินเสียงกลองดังกึกก้องอย่างเป็นจังหวะดนตรีภาคใต้ เสน่ห์ที่ชวนดึงดูดให้ร่ายรำไปตามเสียงที่ได้ยิน ในงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว งานประเพณีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของท้องถิ่น มรดกแห่งศิลปะวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) มหาวิทยาลัยแห่งการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้นำนักศึกษาร่วมสืบสานประเพณี สร้างตัวแทนแห่งความศรัทธา บูชาพระพุทธศาสนา แสดงออกผ่านการเรียนรู้ พร้อมปฏิบัติจริง ร่วมกับวัดท่าอู่ และชาวบ้านชุมชนบึงขุนทะเล สนับสนุนนักศึกษาออกแบบ รังสรรค์ศิลปะ จิตรกรรมขบวนแห่เรือพนมพระ พร้อมเติมเต็ม นางรำ นางลาก สร้างความคึกครื้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ. บริเวณแยกวัดธรรมบูชา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยวัดท่าอู่ เป็นวัดในพื้นที่เดียวกับมหาวิทยาลัยและเป็นพื้นที่ที่ได้บูรณาการการเรียนการสอนยกระดับองค์ความรู้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในหลายกิจกรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยการนำองค์ความรู้ทักษะวิศวกรสังคมมาปรับใช้ เรียนรู้การจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสังคม ส่งเสริมให้นักศึกษาให้เป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนวัตกร เสริมการเรียนรู้สังคมอย่างรู้คุณค่า

และนำมาปฏิบัติงานได้จริง ภายใต้การผลักดันและการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรส. และอาจารย์ผู้เกี่ยวข้อง ได้ให้การสนับสนุนนักศึกษาสาขาวิชาจิตรกรรม นักศึกษาสาขาวิชาพัฒนาชุมชน นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และนักศึกษาจากทุกสาขาวิชาที่มีความสนใจเนรมิตขบวนแห่เรือพนมพระวัดท่าอู่ ให้ได้เป็นหนึ่งใน 109 วัด ของงานครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดี เปิดเผยว่า มรส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น มีพันธกิจสำคัญด้านการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาสากล จึงร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัด และชุมชนท้องถิ่นสืบสานเอกลักษณ์ถิ่นใต้หนึ่งเดียวของประเทศไทยที่สืบสานอย่างยาวนาน สร้างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดการเรียนรู้ หวงแหน ประเพณีสำคัญของท้องถิ่น หนุนนำ ส่งเสริม สร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงแก่นักศึกษาเพื่อมุ่งสู่อาชีพในอนาคตด้วยการผลักดันให้นักศึกษา เป็น “วิศวกรสังคม” ที่สามารถสร้างคุณค่าด้วยทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนอยู่คู่กับท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างรายได้อย่างครบมิติทุกด้านในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการคิดวิเคราะห์การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ด้านนางสาวจินต์จิรา ตั้งศักดิ์เจริญสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ฝึกซ้อมการร่ายรำให้แก่นักศึกษารุ่นน้องผู้รับหน้าที่เป็นนางรำ กล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในอดีตนางรำให้แก่เรือพนมพระจากวัดท่าอู่ เมื่อปี 2566 ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด และในปีนี้ได้ส่งต่อความภาคภูมิใจผ่านการฝึกซ้อมไปยังนักศึกษารุ่นน้องที่สมัครใจและเต็มใจเป็นนางรำประจำปี 2567 เพราะสิ่งสำคัญของนางรำที่พึงมี คือ ระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม ความสามัคคีในหมู่คณะ ความเสียสละ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ ตลอดได้สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

“นับเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความรู้ ทักษะทางศิลปะและวัฒนธรรม แต่ยังเปิดโอกาสการเรียนรู้ในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างทักษะการทำงานเป็นทีม ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์งานศิลปะ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการจัดการงานเทศกาลประเพณีขนาดใหญ่ เสริมสร้างความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนในชุมชน” นางสาวจินต์จิรา กล่าวในที่สุด

——————————

สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี /กนกรัตน์ ศรียาภัย : รายงาน

Ads – Baansuay Group full

About The Author

Related posts