ส.ว.ไก่ ชงเร่งแก้ปัญหาธนารักษ์ทับที่ดินชาวบ้านเกาะเต่า หมดเกาะ 1.5 หมื่นไร่ทั้งที่เคยใช้จริง 25 ไร่ เผยชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศ ที่ประชุมวุฒิสภามอบ กมธ. รวมข้อมูลจี้รัฐคืนสิทธิให้ชาวบ้าน
นางสาวอัจฉรพรรณ หอมรส สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้พิจารณาเกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนเกาะเต่า และเกาะหางเต่า (นางยวน) ทั้งเกาะเนื้อที่จำนวน 15,000ไร่เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ที่กรมราชทัณฑ์ เคยใช้พื้นที่บนเกาะเพียง 25 ไร่เท่านั้น ส่งผลให้เกิดการ ทับซ้อนกับ ที่ดินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะมาตั้งแต่ก่อน กรมราชทัณฑ์ จะเข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งความผิดพลาดนี้ส่งผลให้ชาวบ้านบน เกาะ ไม่สามารถไปขอขึ้นทะเบียน ส.ค.1 ที่ประกาศในพ.ศ. 2497 ไว้มาจนถึงบัดนี้ ทำให้ลูกหลานชาวเกาะเต่าเสียสิทธิ์ต่างๆอันพึงมี ในฐานะประชาชนไทย
นางสาวอัจฉรพรรณ กล่าวว่า เดิมกรมราชทัณฑ์ได้ใช้พื้นที่เพียง 25 ไร่ บนเกาะเต่าเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช สมัยการปกครอง ของคณะราษฎร์ ปี พ.ศ.2476 ซึ่งได้ย้ายนักโทษจากเกาะตะรุเต่า มาเกาะเต่า เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2486 และถูกปล่อยได้รับการอภัยโทษเดือนตุลาคม พ.ศ.2487 แต่กลับอ้างว่า นำส่งที่ดินดังกล่าวขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ.2478 โดยเขียนเลข 2478 ด้วยดินสอและเป็นตัวเลขอารบิค โดยรายการสิ่งปลูก สร้างได้เขียนในช่วงปี พ.ศ.2490 แปลงหมายเลขทะเบียนที่ 34 เลขที่เฉพาะ จังหวัด 114 มีอาณาเขตจดทะเลทุกด้าน มีรายการสิ่งปลูกสร้าง ใช้ประโยชน์ในราชการของกรมราชทัณฑ์ รวม 20 รายการ ประกอบด้วย ที่ทำการเรือนจำ เรือนขัง โรงเลี้ยงอาหาร ที่พักพัศดี และปัจจุบันมี การพยายามเรียกเก็บค่าเช่าบนเกาะของกรมธนารักษ์ในอัตราที่สูงสร้าง ความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านบนเกาะที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่สมัยก่อนกรมราชทัณฑ์จะเข้าไปใช้พื้นที่
“ ขณะที่เกาะหางเต่า (นางยวน) ในทางกายภาพไม่ได้มีพื้นที่ติดกับเกาะเต่า ถือเป็นคนละเกาะ แต่กรมราชทัณฑ์อ้างว่า เป็นเกาะเกิดขึ้นใหม่ และนำส่งให้ กรมธนารักษ์ยกขึ้นทะเบียนพร้อมกับเกาะเต่า โดยไม่ได้มีหลักฐาน การใช้พื้นที่กรมราชทัณฑ์มาก่อน ฉะนั้นการขึ้นทะเบียนเกาะหางเต่า จึงไม่ถูกต้อง ปัจจุบันเกาะหางเต่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในชื่อ เกาะนางยวน ได้ปล่อยให้นายทุนเช่าทั้งเกาะนำไปหาประโยชน์รายได้ รวมทั้งพื้นที่ชายหาดที่ตามกฎหมายถือเป็นที่ดินในการดูแลของกรมเจ้าท่า และควรจะเป็นที่สาธารณะประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่กลับตกอยู่ใน การดูแลของนายทุนเช่าที่จากกรมธนารักษ์ส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว ” นางสาวอัจฉรพรรณ กล่าว
นางสาวอัจฉรพรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อกรมธนารักษ์อ้างสิทธิ์ครอบครอง พื้นที่ทั้งสองเกาะแล้ว และกำหนดให้การขออนุญาตก่อสร้างใดๆจากเทศบาล จะต้องมีเอกสารแสดงการเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ก่อน จึงจะขออนุญาต ก่อสร้างได้ ถือเป็นการบังคับให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนบนเกาะต้อง ไปเช่าที่ดินกับธนารักษ์ในอัตราเช่าที่สูง ซึ่งเป็นการบังคับชาวบ้านเช่า ที่ดินทางอ้อม มิเช่นนั้นจะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยได้ รวมทั้งการจัดเก็บค่าเช่า หรือการเปลี่ยนโอนชื่อผู้เช่า กรมธนารักษ์ จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงมาก โดยไม่ได้จัดสรรรายได้ให้กับ การพัฒนาท้องถิ่น ขณะที่กฎหมายที่ดินที่เทียบเคียงกันจะกำหนดให้ รัฐโอนเงินคืนรายได้บางส่วนให้ท้องถิ่นนำไปใช้ในการบริหารจัดการ
“ กรณีปัญหาที่ดินบนเกาะเต่าและเกาะนางยวน หน่วยงานรัฐไม่ได้คำนึง ถึงสิทธิ หรือความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ดำเนินมายาวนาน และไม่ สามารถมีปากมีเสียงไปต่อสู้กับภาครัฐได้ จึงเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภา นำเสนอให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ ได้รีบแก้ปัญหาที่ค้างคามานาน และขอฝากไปยังกรรมาธิการ(กมธ.)ต่างๆ ทั้ง กมธ.ที่ดิน กมธ.สิทธิมนุษย์ชน กมธ.กฏหมายและยุติธรรม และกมธ.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้ผลักดันแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน บนเกาะเต่าด้วย หากสำเร็จจะเป็นโมเดลต้นแบบแก้ไขปัญหาที่ดิน แบบเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ” นางสาวอัจฉรพรรณ กล่าว
………………………………………………………………………………………..
ภาพ/ข่าว NBT